1.การเลิกจ้าง พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือการหยุดความสัมพันธ์และบรรดาข้อผูกมัดของความเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ หรือมีสิทธิอย่างใด
ตามสัญญาจ้างแรงงานนั้นอีกต่อไป
2.แต่กฎหมายแรงงาน มุ่งคุ้มครองความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายนึงได้เปรียบมากเกินอีกฝ่าย ดังนั้น ในฐานะลูกจ้างที่ถือว่ามีอำนาจ
ต่อรองด้อยกว่า กฎหมายจึงต้องยื่นมือเข้ามาช่วยโดยการกำหนดเรื่องค่าชดเชย เหตุแห่งการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไว้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
พ.ศ.2541 มาตรา 118 และ 119
3.เรามาทำความเข้าใจกันอีกสักนิด ค่าชดเชยคืออะไร ค่าชดเชยคือเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยมีอัตราการจ่ายตามอายุงานของลูกจ้างที่กำหนดไว้ใน
มาตรา 118 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ นั่นเอง
4.แบบนี้ก็แปลว่า ถ้านายจ้างเลิกลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างก็ได้รับเงินชดเชยทุกกรณีน่ะสิ...ช้าก่อน! กฎหมายไม่ได้คุ้มครองคนหัวหมอ หรือคนทำร้ายนายจ้างหรอกนะ
เพราะยังมีมาตรา 119 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ระบุเหตุว่า หากลูกจ้างประพฤติตนเข้าเหตุเลิกจ้างดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง
นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำความผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
**ถ้าเข้าเหตุตาม (1) - (6) ลูกจ้างก็อดได้ค่าชดเชย
5.ถ้าไม่เข้าเหตุที่จะไล่ลูกจ้างออกแบบไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามที่อธิบายไปในข้อ 4. นั่นหมายความว่า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างทุกกรณี ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
6.นอกจากนี้ ถ้านายจ้างไล่ออกกระทันหันแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างด้วย แต่ถ้านายจ้างได้บอกกล่าวก่อนถึงกำหนดวัน
จ่ายเงินค่าจ้างก่อนแล้วงวดหนึ่ง ก็ไม่ต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
7.แล้วถ้าโดนไล่ออกกระทันหันแบบนี้ วันทำงานที่ลูกจ้างทำแล้วไม่ครบเดือนลูกจ้างมีสิทธิได้รับไหม? ตอบว่า ได้ค่ะ เพราะถ้า no work ก็ no pay แต่นี่ลูกจ้างทำงานให้
นายจ้างไง นายจ้างก็เลยต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามที่ได้ทำงานไปแล้วนั่นเอง ก็เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องไปคำนวณค่าจ้างคิดตามสัดส่วนจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง
8.ช้าก่อน! มีอีกประเด็นต้องย้ำเตือน...ถ้าลูกจ้างเป็นฝ่ายขอลาออกเอง ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย
สรุปว่า ไม่ว่าจะช่วงโควิด หรือช่วงปกติ การจะเลิกจ้างลูกจ้างสักคนหรือหลายคน ถ้าไม่เข้าเหตุตามมาตรา 119 แล้ว ยังไงนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
แต่ถ้าเข้าเหตุตามมาตรา 119 เมื่อไหร่ นายจ้างก็ยิ้มสวยๆ เชิญลูกจ้างที่ประพฤติไม่น่ารักออกได้เลยโดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แล้วอย่าลืมว่า...อาจจะต้องจ่ายค่าสินจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และ/หรือค่าจ้างที่ยังค้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น
แต่ถ้าต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ก็อย่าลืมนึกถึงทีมทนาย สมิท ลีเกิล ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกจ้างหรือนายจ้างเรายินดีให้บริการ
-ทนายปาร์ก-